You are here
สกรีนทรานเฟอร์ลงบนเสื้อสีดำ


แน่นอนว่าหมึกขาวที่ติดมากับเครื่องพิมพ์ก็เพื่ออุดช่องว่างในอุตสหกรรมการพิมพ์ที่ยังคงต้องการพิมพ์หมึกสีขาวออกมาบนกระดาษสีอื่น ๆ (นอกจากระดาษขาว) รวมถึงการมองเห็นโอกาสในการเข้ามาทำตลาดกับอุตหสหกรรมการสกรีนเสื้อแบบทรานเฟอร์ที่เจาะตรงเข้าไปยังกลุ่มตลาดเสื้อสีเข้มหรือสีดำ
การสกรีนแบบทรานเฟอร์ในเสื้อสีดำยุคแรก ๆ บนกระดาษทรานเฟอร์จะเคลือบยางสีขาว เพื่อใช้เป็นรองพื้นช่วยให้สีของลวดลายมีความสดใสคมชัดไม่ถูกกลืนลงไปบนเนื้อผ้าสีดำเมื่อพิมพ์ลงเสื้อ (เช่นเดียวกับการสกรีนเสื้อในงาน DTG และ ซิลค์สกรีน) สำหรับการรองพื้นสีขาวในงานทรานเฟอร์อาศัยตัวกระดาษมีการเคลือบยางขาวบนผิว เมื่อนำกระดาษไปพิมพ์ลาย แล้วนำไปตัดทิ้งส่วนพื้นที่ที่ไม่ใช่ลวดลาย (contour cutting) หลังจากนั้นนำไปเข้าเครื่องกดความร้อน( Heat Press) พิมพ์ลายลงเสื้อ ตัวยางสีขาวจะหลอมลงไปบนเส้นใยของเสื้อทำหน้าที่เสมือนรองพื้นหนึ่งชั้น( White under-base) ทำให้ลวดลายบนเสื้อสีดำมีความคมชัดสดใส
เครดิตรูปภาพจากเว็บ กระดาษทรานเฟอร์.com
ในยุคถัดมาเมื่อช่วงปลายปี 2009-2011 เราได้รู้จักกับ "กระดาษทรานเฟอร์แบบ Self weeding" หรือกระดาษทรานเฟอร์แบบไร้กรอบฟิลม์ กล่าวคือ เมื่อพิมพ์ลายลงบนกระดาษก็สามารถนำไปเข้าเครื่องกดความร้อน( Heat Press) พิมพ์ลายลงเสื้อได้เลย ไม่ต้องมานั่งตัดรอบลวดลายส่วนที่ไม่ต้องการทิ้ง หลังจากพิมพ์ลงเสื้อเมื่อลอกกระดาษออกส่วนที่ไม่ใช่ลวดลายจะติดออกไปบนแผ่นกระดาษเหลือแต่ลายหรือหมึกพิมพ์อยู่บนเสื้อ โดยที่กระดาษทรานเฟอร์แบบ Self weeding จะใช้กับเครื่องพิมพ์เลเซอร์เท่านั้น
สำหรับการใช้งานกับเสื้อสีดำประสิทธิภาพการทรานเฟอร์ยังทำได้ไม่ดีนักจึงไม่เป็นที่นิยมเท่ากระดาษทรานเฟอร์ที่ใช้กับเสื้อสีขาว จนกระทั่ง เมื่อช่วงกลางปี 2011 – 2012 ทาง OKI ได้ผลิตปริ๊นเตอร์ที่มีหมึกขาวติดมาด้วย ทำให้เข้าสู่ยุคที่ผู้ผลิตกระดาษทรานเฟอร์เริ่มพัฒนาปรับปรุงให้กระดาษแบบ Self-weeding ของตน ใช้งานได้ดีขึ้นกับเสื้อสีดำโดยใช้ร่วมกับ ปริ๊นเตอร์ของ OKI รุ่น 920 WT (ขนาด A3) กับ รุ่น 711 WT (ขนาด A4)
ในยุคปัจจุบัน ปลายปี 2011 – ปัจจุบัน การสกรีนเสื้อแบบทรานเฟอร์บนเสื้อสีดำ ได้อาศัยเทคโนโลยีหมึกพิมพ์สีขาวของเครื่องพิมพ์ OKI รุ่น 920 WT (ขนาด A3) กับ รุ่น 711 WT (ขนาด A4) มารองรับการใช้งานกระดาษของตนให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตอนต่อไปผู้เขียนจะมาอธิบายถึงการใช้งานกระดาษทรานเฟอร์บนเสื้อสีดำในยุคปัจจุบัน รวมถึงความเกี่ยวข้องของหมึกพิมพ์สีขาวที่ถูกนำมาใช้อย่างไรและเพื่ออะไร

บทความ โดย แพนด้าสกรีน อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ