สกรีนฟรอยด์(เลเซอร์ทรานเฟอร์)

จากที่ผู้เขียนเคยนำกระดาษทรานเฟอร์เลเซอร์มาใช้ทดสอบในบทความคราวก่อนคราวนี้จะรีวิวสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้กับงาน"สกรีนฟรอยด์ในรูปแบบงานทรานเฟอร์"ดูบ้างครับ( จากที่เคยเห็นผ่านตาในคลิป)


ขั้นตอนแรก ทรานเฟอร์ลายกราฟิกที่ปริ๊นจากกระดาษลงไปที่เสื้อก่อนนะครับในขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับการสกรีนทรานเฟอร์ทั่ว ๆ ไป ต่างกันเพียงในเรื่องของสีในลวดลายที่ใช้พิมพ์ไม่จำเป็นต้องมีสีตามจริงตามที่ผู้เขียนทดสอบนะครับ พิมพ์ด้วยหมึกแค่สีเดียวเป็นสีอ่อน ๆ ก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องนำกระดาษฟรอยด์มาวางทับลงไปอยู่ดี


ขั้นตอนที่สอง หลังจากลายถูกทรานเฟอร์ติดลงไปบนเสื้อแล้วก็นำกระดาษฟรอยด์ที่ใช้ในงานทรานเฟอร์ (ฟรอยด์แบบเดียวกับที่ใช้สกรีนเสื้อด้วยวิธีบล็อกสกรีน) มาวางทับไปบนลาย แล้วทำการกดด้วยเครื่องกดความร้อนประมาณ 12 วินาที หลังจากนั้นรอทิ้งไว้จนเย็น แล้วจึงทำการลอกกระดาษฟรอยด์ออก (Cool peel) ก็จะได้ผลงานตามรูปครับ

เรื่องความคงทนของลายสกรีนหลังจากผ่านการซักสามารถใส่กันได้เป็นปี ๆ เหมือนงานสกรีนแบบบล็อกหรือไม่? ในปัจจุบันงานทรานเฟอร์จากเครื่องพิมพ์เลเซอร์ทำได้ดีระดับหนึ่งแต่คงนำไปเทียบกับงานสกรีนแบบบล็อกไม่ได้นะครับ จากที่ผู้เขียนลองทดสอบการซัก( ซัก 3-4 ครั้งลายก็จะเริ่มจางลงและแตกบ้างเล็กนอ้ย) เนื่องจากการยึดเกาะของหมึกพิมพ์เลเซอร์ถึงแม้จะมีส่วนประกอบทางเคมีเป็นเรซิ่น + ชั้นฟิลม์ช่วยยึดเกาะเส้นใยผ้าซึ่งเคลือบมาบนกระดาษทรานเฟอร์ยังถือว่ามีปริมาณที่น้อยมากหากเปรียบเทียบกับสีสกรีนในงานสกรีนแบบบล็อก ทั้งปริมาณของเนื้อสี(pigment)และสารยึดเกาะเส้นใยผ้าที่ผสมลงไปในสีสกรีน(Fixing Agent)ให้ลองนึกภาพถึงการสกรีนแบบบล็อกที่สีสกรีนข้น ๆ หนืด ๆ ปริมาณเท่าชามก๋วยเตี๋ยวเรือที่ถูกเทลงบนบล็อกสกรีนและถูกแปรงปาดผ่านผ้าสกรีนลงไปยังเนื้อผ้า เทียบกับงานทรานเฟอร์ที่ผงหมึกจากเครื่องปริ๊นเตอร์ถูกพิมพ์ลงมาบนกระดาษทรานเฟอร์และนำไปเข้าเครื่องกดความร้อนเพื่อหลอมละลายหมึกลงไปบนเนื้อผ้าย่อมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

  • สกรีนเสื้อแบบพลาสติซอลทรานเฟอร์
  • สกรีนทรานเฟอร์ลงบนเสื้อสีดำ
    เสื้อยืดสีดำสกรีนลาย
  • ประเภทการพิมพ์สกรีน
  • สกรีนฟรอยด์(เลเซอร์ทรานเฟอร์)
  • ทดสอบกระดาษทรานเฟอร์สำหรับเครื่องพิมพ์เลเซอร์
  • สกรีนเสื้อด้วยวิธีทรานเฟอร์ความร้อน
  • กระดาษทรานเฟอร์ไร้กรอบฟิลม์ (self weeding transfer paper)