ทดสอบกระดาษทรานเฟอร์สำหรับเครื่องพิมพ์เลเซอร์


คราวที่แล้วได้เขียนถึง"กระดาษทรานเฟอร์ประเภทที่ใช้กับเครื่องพิมพ์เลเซอร์"
คราวนี้จะนำผลการทดสอบการใช้งานจริงมารีวิวให้ดูนะครับ สำหรับกระดาษที่ผู้เขียนใช้ทดสอบสั่งมาจากทางอเมริกา (ไม่ขอระบุยี่ห้อแล้วกันนะครับ) หากค้นในเน็ตจะพบเจอะอยู่หลายชื่อและมีอยู่ด้วยกันหลายยี่ห้อ อาทิเช่น
      -Self weeding Transfer paper
       -Trim free Transfer paper
      -Self cutting transfer paper
เครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่ผู้เขียนใช้เป็นของ OKI (มีสองยี่ห้อที่ทางผู้ผลิต ไม่แนะนำให้ใช้คือ HP กับ CANON) พอดีว่าเครื่องที่ผู้เขียนใช้ Dump ของโทนเนอร์ Magenta รั่วทำให้ผงหมึกมันพิมพ์ออกมาเลอะ ๆ ตรงที่เป็นสีชมพูขีด ๆ ขอบบนของกระดาษนั่นแหละครับ

ขั้นตอนการใช้งาน ไม่ได้มีขั้นตอนอะไรเพิ่มมาในกระบวนการทำงานครับ เพียงแค่ปรับเครื่องพิมพ์ให้รองรับการพิมพ์กระดาษที่มีความหนาและคุณสมบัติรองรับกระดาษที่มีความมันเงา(เนื่องจากผิวกระดาษถูกเคลือบมา) หลังจากนั้นก็สั่งพิมพ์ เมื่อลายถูกพิมพ์ลงบนกระดาษก็นำไปเข้าเครื่องกดความร้อน (Heat Press)ได้เลย ไม่ต้องมานั่งไดคัทตัดรอบลวดลายเหมือนกระดาษอิงค์เจ็ทที่ใช้กับเสื้อยืดเนื้อผ้าคอตตอน หลังจากนั้นก็พิมพ์ลายลงบนเสื้อยืดได้เลย

จากภาพบนจะสั่งเกตุว่ากระดาษส่วนที่เป็นฟิลม์ผิวจะด่าง ๆ เมื่อถูกพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์เลเซอร์ ฟิลม์ที่เคลือบจะถูกลอกออกไปบางส่วนจากความร้อนที่ีกระดาษหมุนผ่านตัว Fuser ของเครื่องพิมพ์

ระยะเวลาและอุณหภูมิในการกดจะอยู่ที่ 170-180 องศาเซสเซียส ใช้เวลาประมาณ 20-25 วินาที (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำผู้ผลิตกระดาษแต่ล่ะยี่ห้อเป็นสำคัญนะครับ) หลังจากนั้นก็ยกเครื่องกดขึ้น ทำการลอกกระดาษแผ่นหลังออกจากเสื้อ โดยลอกทันทีในขณะที่กระดาษยังร้อน (Hot peel)
ผลลัพธ์ที่ได้ ต้องถือว่าเป็นที่น่าพอใจทีเดียวครับสำหรับคุณสมบัติของกระดาษในส่วนที่ไม่ใช่ลวดลายจะถูกลอกออกเป็นฟิลม์บาง ๆ ติดไปบนกระดาษ (แต่ถ้าปล่อยให้กระดาษเริ่มเย็นจะลอกยาก) ส่วนลวดลายที่พิมพ์ติดลงไปบนเสื้อจะมีเนื้อหมึกพิมพ์บาง ๆ ติดบนเส้นใย(ไม่ซึมลึกลงไป) หากยืดเสื้อออกตรงบริเวณลวดลายจะเห็นลายแตกตามทิศทางของเส้นใยเนื้อผ้า (พอปล่อยก็จะหดกลับ) ส่วนเรื่องสีสันจะออกมาเข้มพอ ๆ กับสีที่พิมพ์ลงบนกระดาษทีเดียว (แต่เปอร์เซ็นเพี้ยนของสีจะมากหน่อยเนื่องจากถูกความร้อน )


หากสังเกตุจะเห็นว่ารายละเอียดของลวดลายเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถทรานเฟอร์ลงเสื้อได้เป็นอย่างดี และแม้ในพื้นที่ช่อง เล็ก ๆ ที่เป็นฟิลม์ก็ถูกลอกติดขึ้นไปบนกระดาษ



จากภาพบนจะสั่งเกตุว่าพื้นที่ว่างเล็ก ๆ ในลวดลายก็คือเนื้อผ้าโดยตรงไม่มีฟิลม์ใส ๆ ติดลงไปด้วยเลย

ความคงทน เนื่องจากเป็นผงหมึก(เรซิ่น)ที่ถูกความร้อนหลอมละลายยึดเกาะอยู่บนเส้นใยไม่ได้ซึมลึกลงไปในเนื้อผ้า และความหนาแน่นของผงหมึกพิมพ์ที่พิมพ์ลงบนกระดาษทรานเฟอร์มีปริมาณไม่มากพอ ความคงทนน่าจะทนการซักล้างอยู่ได้ในระดับนึงเท่านั้น (ผู้เขียนยังไม่ได้ทดสอบนำไปซัก ถ้าได้ทดสอบจะนำมารีวิวเพิ่มเติมครับ)

ลักษณะลวดลายที่เหมาะกับกระดาษทรานเฟอร์ คำแนะนำของผู้ผลิตแจ้งเอาไว้ว่าลวดลายที่เป็นภาพเหมือนหรือมีการไล่โทน gradient จะไม่เหมาะ(ทรานเฟอร์ได้ไม่ดี) เมื่อเทียบกับลวดลายประเภท Solid Color ที่เป็นสีโดด ๆ

**บทความโดย แพนด้าสกรีน ห้ามคัดลอกบทความในเว็บไซต์ ยกเว้นการนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของท่านโดยทำ Link อ้างอิงกลับมายังเว็บไซต์ www.pandascreen.com

  • สกรีนเสื้อแบบพลาสติซอลทรานเฟอร์
  • สกรีนทรานเฟอร์ลงบนเสื้อสีดำ
    เสื้อยืดสีดำสกรีนลาย
  • ประเภทการพิมพ์สกรีน
  • สกรีนฟรอยด์(เลเซอร์ทรานเฟอร์)
  • ทดสอบกระดาษทรานเฟอร์สำหรับเครื่องพิมพ์เลเซอร์
  • สกรีนเสื้อด้วยวิธีทรานเฟอร์ความร้อน
  • กระดาษทรานเฟอร์ไร้กรอบฟิลม์ (self weeding transfer paper)