แนวทางในการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อแบบพิมพ์ตรงลงเนื้อผ้า ตอนที่1

เพื่อน ๆ ที่กำลังตัดสินใจลงทุนเปิดร้านรับสกรีนเสื้อแบบพิมพ์ตรงลงเนื้อผ้าหรือมองหาเครื่องสกรีนเสื้อเพื่อมาเสริมธุรกิจสกรีนเสื้อที่ทำอยู่ บทความนี้ผมมีแนวทางในการเลือกซื้อมาฝากครับ แต่ขอเกริ่นไว้ก่อนว่าเป็นแนวทางที่พิจารณาจากคุณสมบัติเครื่องสกรีนเสื้อของตลาดทางฝั่งยุโรปและอเมริกานะครับไม่ได้เจาะจงเป็นเครื่องที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย บทความชุดนี้จะแบ่งเป็น 2 ตอนนะครับ

กลุ่มลูกค้าคือใคร ? คำถามแรกไม่ว่าจะประกอบธุรกิจอะไรก็คงต้องถามว่าใครคือกลุ่มลูกค้าของเราในธุรกิจสกรีนเสื้อแน่นอนว่าการมีเครื่องสกรีนเสื้อที่สามารถพิมพ์ได้ทั้งผ้าสีอ่อนสีเข้มพิมพ์ได้ไม่จำกัดลายรวมถึงการพิมพ์รูปภาพสามารถตอบโจทย์ได้กับลูกค้าทุกกลุ่มที่กำลังมองหาบริการสกรีนเสื้อ แต่การจะลงทุนกับเครื่องที่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ทุกประเภทงานและกำลังการผลิต ราคาก็ย่อมสูงตามไปด้วย ดังนั้นการเจาะจงกลุ่มลูกค้าที่มีโอกาสเข้ามาใช้บริการสกรีนเสื้อกับคุณได้อย่างชัดเจนย่อมมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกรุ่นเครื่องสกรีนเสื้อที่ตอบโจทย์การลงทุนและมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนได้ไวกว่า เช่น หากคุณเป็นนักออกแบบลายสกรีนเสื้อต้องการผลิตเสื้อยืดภายใต้แบรนด์ของคุณเอง ใครคือกลุ่มลูกค้าที่จะมาซื้อเสื้อยืดแนวแฟชั่นที่คุณออกแบบ โอกาสในการขายต่อเดือนจำนวนกี่ตัว การกำหนดกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้คุณมองเห็นตัวเลขผลกำไรและกำลังการผลิตขั้นต่ำต่อเดือนได้อย่างคร่าว ๆ หลังจากนั้นจึงตัดสินใจภายใต้งบประมาณที่คุณมี เพื่อให้ได้เครื่องที่มีประสิทธิภาพและกำลังการผลิตใกล้เคียงมากที่สุด

งบประมาณ แน่นอนว่าคุณต้องการเครื่องที่ใช้เทคโนโลยีที่ใหม่ล่าสุดแต่อย่างไรก็ดีของถูกและดีมักไม่มีในโลกคุณสมบัติของเครื่องสกรีนที่ดีที่สุดที่คุณต้องการถ้าประกอบด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้ราคาเริ่มต้นคงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
- สามารถพิมพ์ลงเสื้อสีดำได้
- มีระบบล้างหัวพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพด้วยกลไกทั้งจากฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์เพื่อป้องกันการอุดตันของหัวพิมพ์และยืดอายุการใช้งานได้นานที่สุด (ลดต้นทุนทางอ้อมในการเปลี่ยนหัวพิมพ์)
- สามารถพิมพ์ภาพที่ความละเอียดสูงที่ 1200 dpi
-เวลาในการพิมพ์ต่อตัวต่ำกว่า 1 นาที
- มีซอฟต์แวร์ในการช่วยจัดการงานอาร์ตเวิรค์
- มี RIP ซอฟแวร์ที่ควบคุมการฉีดหมึกได้อย่างมีประสิทธิภาพลดความสิ้นเปลืองน้ำหมึกและให้ภาพออกมาคมชัดสดใสใกล้เคียงงานต้นฉบับ
- มีระบบ Pretreated และอบเสื้ออัตโนมัติ ไม่ต้องใช้สเปรย์ฉีดพ่นและนำมาอบหรือเข้าเครื่อง Heat Press ซ้ำ
สมมุตว่าราคาเครื่องตามคุณสมบัติข้างต้นมีราคาหนึ่งล้านบาท กำไรต่อการสกรีนเสื้อหนึ่งตัวเท่ากับ 50 บาท นั่นแปลว่าคุณต้องสกรีนเสื้อถึง 20,000 ตัวจึงจะถึงจุดคุ้มทุน คิดอย่างคร่าว ๆ กำลังการผลิตเดือนล่ะ 1000 ตัว คุณต้องใช้เวลาถึง 20 เดือน หรือ 1.6 ปีจึงจะถึงจุดคุ้มทุน

การตั้งงบประมาณและคำนวนเป้าหมายการผลิตต่อเดือนหักด้วยค่าใช้จ่าย(ต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อมซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัด ๆ ไป) จะช่วยให้คุณมองเห็นภาพชัดเจนถึงจุดคุ้มทุน (Return of investment) ได้ชัดเจนขึ้นหลังจากผ่านจุดนั้นไปได้ก็จะเริ่มเข้าสู่การเก็บเกี่ยวผลกำไร

ลองมาดูในข้อต่อไปว่าคุณสมบัติทั่ว ๆ ไปของเครื่องสกรีนเสื้อมีอะไรบ้างและมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนภายใต้งบประมาณอันจำกัดของคุณ

เลือกคุณสมบัติเครื่องสกรีนเสื้อภายใต้งบประมาณ
ขนาดเครื่อง ความกว้างXยาวXสูง ถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่คุณต้องคำนวณให้เหมาะกับพื้นที่ทำงานของคุณ(เครื่อง Large Format บางรุ่นต้องการพื้นที่มากกว่า 1 ตารางเมตรสำหรับตั้งเครื่องโดยยังไม่รวมพื้นที่ทำงาน)
ขนาดพื้นที่ในการพิมพ์: โดยทั่วไปเครื่องแบบตั้งโต๊ะ(Desktop) จะเป็นไซส์ขนาด A4 , และ A3 หรือถ้าเป็นขนาดอุตสหกรรม(Large Format)ก็สามารถพิมพ์ผ้าผืนหน้ากว้างได้เป็นเมตร ถ้าคุณต้องการสกรีนเสื้อยืดเสื้อโปโลเป็นหลัก เครื่องสกรีนที่พิมพ์ขนาด A4 ก็จะมีขนาดถูกกว่าขนาด A3 เช่นเดียวกันกับเครื่องปริ๊นเตอร์ในงานกระดาษที่คุณสามารถซื้อเครื่อง Inkjet ราคาต่ำกว่า 2,000 บาทสำหรับพิมพ์งานขนาด A4 แต่ถ้าเลือกพิมพ์งานขนาด A3 ราคาก็กระโดดพรวดไปเกิน 10,000
ความละเอียดในการพิมพ์ มีหน่วยเป็น DPI หรือ dot per inch กล่าวคือความสามารถพิมพ์จุดในพื้นที่ 1 ตารางนิ้วโดยที่จุดสีไม่ถูกพิมพ์ซ้อนทับกัน การคำนวณจะอ้างอิงที่การพ่นหมึกจากหัวพิมพ์ 1 หัวพิมพ์ (1 สี)ที่พ่นหมึกลงบนพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว แต่อย่างไรก็ดีเครื่องสกรีนเสื้อที่โมดิไฟล์มาจากเครื่องพิมพ์แบบ Inkjet พิมพ์ภาพลงบนกระดาษมักบอกความละเอียดสูงสุดในแบบ Enhance DPI เป็นการคำนวณจากการพ่นหมึกที่มากกว่า 1 หัวพิมพ์(ใช้ทั้งสี CMYK มากกว่า 1 สี) และพิมพ์จุดสีซ้อนทับตำแหน่งกันเพื่อให้เกิดภาพที่มีสีสรรสวยงามมากที่สุดบนกระดาษทดสอบเป็นกระดาษ Photo (คุณสมบัติกระดาษสามารถซับน้ำหมึกได้ดีแม้จะพิมพ์ทับซ้ำตำแหน่งกัน)
สำหรับเครื่องสกรีนเสื้อที่ผลิตมาเพื่อใช้ในการพิมพ์บนเนื้อผ้าโดยเฉพาะจะบอกความละเอียดในการพิมพ์บนเนื้อผ้าอย่างตรงไปตรงมาเช่นของ Brother หรือ Kornit โดยความละเอียดจะอยู่ที่ 300-1200 DPI ขึ้นกับรุ่นประสิทธิภาพของเครื่อง
คุณสมบัติในการพิมพ์ลงผ้าสีเข้ม เครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงผ้าสีเข้มได้จะต้องมีหัวพิมพ์สำหรับพ่นหมึกสีขาวรองพื้นก่อนที่จะพิมพ์ด้วยหมึกสี CMYK ทับลงไปเพื่อให้สีออกมาสดลวดลายไม่ถูกกลืนไปกับเนื้อผ้าสีเข้ม กลไกของเครื่องพิมพ์จะแยก Channel ของหัวหมึกพิมพ์สีขาวออกมาต่างหาก บางรุ่นมี 2 หัวพิมพ์ บางรุ่นมี 4 หัวพิมพ์เพื่อช่วยลดเวลาในการพิมพ์รองหมึกสีขาวให้สั้นลง และแน่นอนว่ายิ่ง Channel หมึกสีขาวยิ่งมากราคาก็สูงขึ้น
จำนวนหัวพิมพ์ จำนวนหัวพิมพ์ยิ่งมากก็ยิ่งให้รายละเอียดของสีในการพิมพ์ที่ดีกว่าเช่นเดียวกับงานพิมพ์ภาพลงกระดาษ โดยพื้นฐานจะเริ่มต้นที่ 4 หัวพิมพ์ CMYK และเพิ่มเติมเสริมสี LC, LM ขึ้นกับรุ่น สำหรับเสื้อสีเข้มก็จะมีหัวพิมพ์สำหรับหมึกขาวเริ่มจาก 2 หัวพิมพ์ไปเป็น 4 หรือ 6 หัวพิมพ์
อัตราความเร็วในการพิมพ์เสื้อสีอ่อนและเสื้อสีเข้มขนาดพื้นที่ A4 ปกติตามสเปคจะแจ้งไว้ว่าระยะเวลาการพิมพ์โดยประมาณบนเสื้อสีเข้มและเสื้อสีอ่อนใช้เวลาเท่าไหร่ในขนาดพื้นที่พิพม์ภาพ A4 และบางยี่ห้อก็อาจบอกละเอียดถึงอัตราการพิมพ์ในแต่ล่ะระดับคุณภาพงานพิมพ์ (เครื่องสเปคต่ำ ๆ บางเครื่องอาจใช้เวลาในการพิมพ์ลายบนผ้าสีเข้มถึง 10 นาทีต่อตัว) ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคุณต้องการเน้นกำลังการผลิตจำนวนมาก ๆ อัตราความเร็วต่ำขนาด 10 นาทีต่อตัวก็ย่อมกระทบกำลังการผลิตของคุณ
ซอฟแวร์ตในการจัดเตรียมอาร์ตเวริค์ก่อนพิมพ์ ลักษณะโปรแกรมจะเหมือนกับโปรแกรมแต่งภาพกราฟิกทั่วไปแต่เน้นที่การปรับแต่งเฉดสีในขั้นตอนการจัดเตรียมอาร์ตเวิร์ค(Pre process)เพื่อควบคุมให้ภาพหลังพิมพ์มีสีสันใกล้เคียงต้นฉบับ สำหรับงานพิมพ์บนเสื้อสีเข้มซึ่งจำเป็นต้องแยก Channel รองพื้นสีขาว และ Channel CMYK ตัวซอฟแวร์ตก็สามารถสนับสนุนการจัดเตรียมอาร์ตเวิรค์ก่อนพิมพ์ให้โดยอัตโนมัติ แทนที่ผู้ใช้จะต้องไปเรียนรู้วิธีการทำงานกับโปรแกรมกราฟิกทั่วไป

RIP ซอฟแวร์สำหรับสั่งการเครื่องพิมพ์ ซอฟต์แวร์สั่งพิมพ์พื้นฐานเป็นไดรเวอร์ที่ติดมากับเครื่องพิมพ์ทั่วไปโดยเฉพาะเครื่องสกรีนเสื้อที่โมดิฟายมาจากเครื่องพิมพ์งานเอกสาร การสั่งงานหัวพิมพ์จะสั่งการบนพื้นฐานการฉีดหมึกลงบนงานกระดาษดังนั้นคุณภาพการพิมพ์ก็อาจทำได้ไม่ดีนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานพิมพ์บนผ้าสีเข้มที่ต้องมีการรองพื้นด้วยหมึกขาว ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสกรีนเสื้อจึงต้องพึ่งซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นสำหรับงานพิมพ์บนเนื้อผ้าโดยเฉพาะเพื่อสั่งการควบคุมหัวพิมพ์ในการพ่นหมึกทั้งหมึกสีและหมึกขาวให้พิมพ์รองพื้นในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สีสันและความคมชัดของผลงานพิมพ์บนเนื้อผ้าที่คมชัดสดใสแม่นยำตามภาพต้นฉบับ อีกทั้ง RIP ซอฟแวร์ที่ดียังช่วยลดอัตราการสิ้นเปลืองหมึกพิมพ์จากการคำนวณอัตราสิ้นเปลืองการฉีดหมึกไว้ด้วย

จากคุณสมบัติข้างต้นที่กล่าวมาผู้เขียนขอยกตัวอย่างคุณสมบัติของเครื่องพิมพ์ DTG ที่ทางผู้ผลิตได้แจ้งไว้ในโบร์ชัวซัก 2 แบรนด์นะครับ

คุณสมบัติเครื่องสกรีนเสื้อ Kornit รุ่น Avalanche
-สามารถพิมพ์งานขนาดมาตราฐาน 16”X20” ใหญ่สุดที่ 23.5”X35”
-ใช้หมึก Pigment ฐานน้ำ
-สามารถพิมพ์ได้บนผ้าสีเข้มและสีอ่อน
-ความละเอียดในการพิมพ์ ต่ำสุด 363X363 DPIสูงสุด 636X363 DPI
-ความสามารถในการพิมพ์ต่อชั่วโมง(ที่โหมดพิมพ์คุณภาพสูงสุด) 170 ตัวสำหรับเสื้อสีอ่อน 95 ตัวสำหรับเสื้อสีเข้ม
-Rip Software Kornit QuickP designer RIP

คุณสมบัติเครื่องสกรีนเสื้อ Brother GT782
-พื้นที่พิมพ์สูงสุด 16นิ้ว X 18 นิ้ว
-หมึกพิมพ์ Pigment ฐานน้ำ
-8 หัวพิมพ์ ( 4 สี CMYK + 4 สี White)
-พิมพ์ได้บนผ้าสีอ่อนและสีเข้ม
-ความสามารถในการพิมพ์ต่อชั่วโมง เสื้อสีอ่อน 50 ตัว เสื้อสีเข้ม 30-40
-ความละเอียดในการพิมพ์ 600X600 DPI
-Rip Software ( No required)

ติดตามอ่านเรื่องต้นุทนทางตรงและทางอ้อม และการทดสอบและประเมินผลใน ตอนที่ 2 นะครับ

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความ โดย แพนด้าสกรีน อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ
  • Epson ตัดแบ่งชิ้นเค้ก เครื่องสกรีนเสื้อ DTG (ตอนที่ 1)
  • เสื้อยืด muppets by threadless
  • แนวทางในการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อแบบพิมพ์ตรงลงเนื้อผ้า ตอนที่1
  • แนวทางการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อ ตอนที่2
  • แนะนำเครื่องสกรีนเสื้อ DTG รุ่นล่าสุดของ Brother
    เครื่องสกรีนเสื้อ DTG