เทคโนโลยีเครื่องสกรีนเสื้อดิจิตอล DTG (direct to garment)

เทคโนโลยีดิจิตอลได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจสิ่งพิมพ์ประเภทกระดาษและได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพในด้านการพิมพ์ทั้งความรวดเร็วและต้นทุนที่ถูกลง ในขณะที่ทางฝั่งอุตสหกรรมสิ่งทอซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานคนและเครื่องจักรอัตโนมัติก็ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วยทุ่นแรงเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันโดยเฉพาะในอุตสหกรรมสิ่งทอขนาดใหญ่ที่มีการนำเครื่องพิมพ์ดิจิตอลสำหรับพิมพ์ลวดลายลงเนื้อผ้าที่มีพื้นขนาดใหญ่เข้ามาใช้งาน

อย่างไรก็ตามในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาอตุสหกรรมสิ่งทอขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการสกรีนเสื้อโดยเฉพาะตามช้อปรับสกรีนเสื้อในยุโรปและอเมริกาก็เริ่มแพร่หลายในการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาช่วยในการสกรีนเช่นกัน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ DTG (direct to garment) printer ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวก็คือเครื่องพิมพ์เสื้อแบบอิงค์เจ็ทที่สามารถพิมพ์ลวดลายตรงลงสู่เนื้อผ้าได้เช่นเดียวกับการพิมพ์ตรงลงบนกระดาษ

จุดเด่นของเครื่องสกรีนเสื้อ DTG คือความรวดเร็วในการพิมพ์เสื้อจำนวนน้อยเช่นเดียวกับวิธีทรานเฟอร์ความร้อน กล่าวคือไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการในจัดตรียมบล๊อกเพื่อทำแม่พิมพ์บล็อกสกรีนเหมือนกับวิธีซิลค์สกรีนซึ่งต้องใช้เวลาและมีต้นทุนที่สูงกว่าไม่คุ้มกับการผลิตในจำนวนที่ต่ำโดยเฉพาะจำนวนที่น้อยกว่า 10 ตัว (โดยปกติขั้นต่ำของการรับสกรีนเสื้อแบบซิลค์สกรีนจะอยู่ที่ 30 ตัวขึ้นไปโดยราคาเริ่มต้นที่ 150-200 ต่อตัวสำหรับการผลิตที่ปริมาณน้อยและราคาจะถูกลงตามจำนวนออเดอร์ที่เพิ่มขึ้น) ในขณะเดียวกันเครื่องสกรีนเสื้อดิจิตอล DTG ยังมีข้อได้เปรียบกว่าการสกรีนทรานเฟอร์ตรงที่เป็นการพิมพ์ตรงลงบนเนื้อผ้าโดยไม่เหลือแผ่นฟิลม์เป็นกรอบทิ้งไว้บนเสื้อ ซึ้งให้ผิวสัมผัสที่ใกล้เคียงกับงานซิลค์สกรีนเชื้อน้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณภาพงานสกรีนเสื้อ DTG เช่นความสดของสี ความคงทนเมื่อนำไปซักล้าง ขึ้นกับเทคโนโลยีที่สนับสนุนโดยเฉพาะหัวพิมพ์และความละเอียดในการฉีดหมึก คุณภาพหมึกพิมพ์ และ ซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้โดยเฉพาะกับการสกรีนลงบนเสื้อสีเข้ม

เทคโนโนโลยีที่นำมาใช้กับเครื่องพิมม์เสื้อ DTG หัวพิมพ์ในเครื่องพิมพ์ประเภทอิงค์เจ็ทเปรียบได้ดั่งหัวใจของเครื่องพิมพ์ ดังนั้นในอุตหกรรมสิ่งพิมพ์ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ึแบบอิงเจ็ทจึงได้ทุ่มงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับการวิจัยพัฒนาและทดสอบหัวพิมพ์และกลไกในการควบคุมการฉีดหมึกลงบนวัสดุเพื่อผลลัพธ์ด้านความคมชัดและลดการแห้งตันของหมึกพิมพ์ในหัวพิมพ์ เพื่อเป็นผู้นำในตลาดเครื่องพิมพ์ประเภทอิงค์เจ็ทสำหรับงานสิ่งพิมพ์บนกระดาษ สำหรับอุตสหกรรมการสกรีนเสื้อผู้ผลิตเครื่องพิมพ์เสื้อดิจิตอลที่มีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณการลงทุนที่สูงมากจะหันไปพึ่งเทคโนโลยีหัวพิมพ์ของผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สำหรับสิ่งพิมพ์ประเภทกระดาษเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติเข้ากันได้มากที่สุดเมื่อนำไปใช้กับหมึกพิมพ์ประเภทพิกเมนต์(เนื้อหมึกมีความเข้มข้นสูง) สำหรับงานสกรีนเสื้อ โดยมีการนำมาดัดแปลงกลไกในการใส่ถาดป้อนที่เหมาะสมกับวัสดุที่ต้องการจะพิมพ์ เช่น เสื้อยืด แคนวาส หรือวัสดุอื่น ๆ ให้สามารถวางลงบนถาดป้อนได้ ส่วนบริษัทผู้ผลิตอีกกลุ่มหนึ่งที่มีงบประมาณการลงทุนรวมถึงมีประสพการณ์ทางด้านการผลิตเครื่องพิมพ์ก็จะใช้หัวพิมพ์ที่ผลิตภายใต้โนฮาวของตนเอง(หรือจ้างผลิต)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันและควบคุมปัจจัยอันส่งผลต่อคุณภาพงานพิมพ์ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของผู้อื่น โดยเครื่องพิมพ์เสื้อดิจิตอลในกลุ่มนี้จะมีราคาสูงกว่ากลุ่มแรกพอสมควร

สำหรับเครื่องพิมพ์ที่รองรับการพิมพ์ลงบนเสื้อสีเข้ม เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ยังคงอาศัยหลักการของการสกรีนเสื้อแบบซิลค์สกรีนคือการพิมพ์ด้วยรองพื้นสีขาวแล้วจึงพิมพ์หมึกสีปกติตามลงไปเพื่อเน้นลวดลายให้คมชัดและมีความสว่างสดใส ซึ่งการพิมพ์ด้วยรองพื้นสีขาวจำเป็นต้องมีการแยกหัวพิมพ์หนึ่งชุดสำหรับสำหรับหมึกพิมม์สีขาวและอีกหนึ่งชุดสำหรับหมึกพิมพ์สีปกติแยกต่างหาก แล้วอาศัยซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมการพ่นหมึกในเครื่องพิมพ์หรือที่เรียกว่า RIP (raster image processing) ซึ่งก็แตกต่างกันตามไปตามการเขียนโปรแกรมของแต่ล่ะเจ้าแต่ยังคงอาศัยหลักการแยกสีเช่นเดียวกับงานสกรีนเสื้อ (Color separation screen printing) คือพื้นที่พิมพ์ที่ต้องการให้ได้สีสดสว่างบนเสื้อสีเข้มหรือต้องการทำไฮไลท์จะมีการพิมพ์หมึกสีขาวรองพื้น (white under base) ตามที่โปรแกรมเป็นตัวแยกสีไว้ให้

สำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องสกรีนเสื้อในบางรุ่นก็จะมีการอบความร้อนเพิ่มอุณหภูมิบนเนื้อผ้าก่อนการพิมพ์ (pretreated) หรือทั้งก่อนและหลังเพื่อผลด้านความสดของสีและความอยู่ทนของหมึกในการยึดเกาะบนเส้นใยของผ้า ซึ่งก็จะมีทั้งการอบโดยอัตโนมัติและการอบด้วยวิธีแมนวล

ตลาดของเครื่องพิมม์เสื้อดิจิตอล DTG เนื่องด้วยตลาดการสกรีนเสื้อในอตุสหกรรมสิ่งทอยังคงต้องพึ่งพาแรงงานคนและเครื่องจักรอัตโนมัติ(สำหรับการพิมพ์ลายที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และพิมม์ในปริมาณมาก)ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการลงทุนในเครื่องพิมพ์ DTG ที่มีราคาอยู่ระหว่าง 300,000 - 2,000,000 บาท สำหรับเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก - ขนาดกลาง และ ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทจนไปถึง 10 ล้านสำหรับเครื่องพิมพ์ดิจิตอลในงานสิ่งทอขนาดใหญ่ยังถือว่าต้นทุนในการพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ดิจิตอล DTG มีต้นทุนที่สูงกว่ามากจึงทำให้ตลาดการสกรีนเสื้อด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิตอล DTG ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบและเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศที่มีค่าแรงสูงอย่างยุโรปและอเมริกา (ที่ผ่านมาเริ่มมีการมาเปิดตลาดในเอเชียแต่ยังไม่เป็นที่นิยม) ด้วยคุณสมบัติในการพิมพ์สีที่ไม่จำกัดเช่นเดียวกับการพิมพ์ลงบนกระดาษและสามารถพิมพ์เสื้อจำนวนน้อยได้แม้เพียง 1 ตัวจึงทำให้ตลาดเครื่องสกรีนเสื้อ DTG เข้าไปมีบทบาทในงานประเภท การพิมพ์งานตัวอย่าง, การพิมพ์งานในเชิงศิลปะที่มีการไล่โทนและงานดีไซน์ที่มีหลายสี ตลอดจนงานออเดอร์จำนวนน้อยที่ต้องมีการรีออเดอร์บ่อย ๆ และ งานประเภทเร่งด่วนซึ่งผู้จ้างยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่างานซิลค์สกรีนซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและการผลิตในปริมาณน้อย

การตัดสินใจ ลงทุนกับเครื่องพิมพ์เสื้อดิจิตอล DTG นอกจากเรื่องการพิจารณาคุณภาพในการพิมพ์เสื้อ ราคาและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องพิมพ์เสื้อของแต่ล่ะเจ้าแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือต้นทุนของหมึกพิมพ์ทั้งที่ใช้ในการพิมพ์และใช้เพื่อการทดสอบรันเครื่องและล้างหัวพิมพ์ซึ่งโดยปกติเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทจะมีปัญหาในเรื่องหัวพิมพ์ตันหากไม่มีการใช้งานนาน ๆ เนื่องจากมีหมึกพิมพ์ตกค้างสะสมอยู่ในท่อส่งน้ำหมึกจึงต้องมีการล้างหัวพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ (ขึ้นกับคำแนะนำของแต่ล่ะผู้ผลิต) เพื่อป้องกันการตันของหัวพิมพ์ และสิ่งที่สำคัญประการสุดท้ายที่ไม่อาจมองข้ามคือเรื่องการบริการหลังการขายเนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทที่หันมาจับตลาดเครื่องสกรีนเสื้อ DTG โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยืมเทคโนโลยีของ ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเจ้าใหญ่มาใช้ เริ่มมีจำนวนมากขึ้น(โดยเฉพาะเครื่องที่ผลิตในประเทศจีน) ในขณะที่ยังขาดประสพการณ์การทั้งในด้านการวิจัยพัฒนาทดสอบผลิตภัณฑ์ ดังนั้นบริการหลังการขายซึ่งจำเป็นต้องมีช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้และแก้ปัญหาซ่อมบำรุงรวมถึงเปลี่ยนอะไหล่(โดยเฉพาะหัวพิมพ์) ในกรณีที่เครื่องมีปัญหา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่การันตีความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้จัดจำหน่ายด้วยอีกทางหนึ่ง

สำหรับผู้ที่สนใจจะเลือกซื้อเครื่องสกรีนเสื้อ อ่านบทความเพิ่มเติมได้ใน แนวทางการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อ

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความ โดย แพนด้าสกรีน อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ
  • เทคโนโลยีเครื่องสกรีนเสื้อดิจิตอล DTG (direct to garment)
  • Direct to garment printing software
  • แนวทางในการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อแบบพิมพ์ตรงลงเนื้อผ้า ตอนที่1
  • แนวทางการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อ ตอนที่2
  • แนะนำเครื่องสกรีนเสื้อ DTG รุ่นล่าสุดของ Brother
    เครื่องสกรีนเสื้อ DTG