Epson ตัดแบ่งชิ้นเค้ก เครื่องสกรีนเสื้อ DTG (ตอนที่ 1)


ในช่วงกลางปี 2013 มีข่าวลือว่า Epson เจ้าของเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์กำลังซุ่มผลิตเครื่องพิมพ์เสื้อของตนเอง จนถึงวันนี้ก็คงได้ทราบกันแล้วว่าข่าวลือนั้นเป็นเรื่องจริง หลังจากที่ทาง Epson นั่งมองตาปริบ ๆ ปล่อยให้เครื่องพิมพ์ของตนถูกดัดแปลงจากเครื่องพิมพ์กระดาษเป็นเครื่องพิมพ์เสื้อยืด ที่รู้จักกันในชื่อ เครื่องพิมพ์ DTG ( direct to garment printer )

เป็นระยะเวลากว่า 5 ปีที่เครื่องปริ๊นเตอร์ Epson หลากหลายรุ่นที่ใช้พิมพ์งานกระดาษทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก ถูกนำไปดัดแปลงใส่โครง ใส่ถาดสำหรับสวมเสื้อ เปลี่ยนหมึกไปใช้หมึกสำหรับพิมลงบนเนื้อผ้า แปลงร่างออกมาเป็นเครื่องพิมพ์เสื้อ ทั้งที่ดัดแปลงกันแบบ DIY และแบบผลิตเพื่อขายจริง ๆ จัง ๆ เป็นล่ำเป็นสันหลากหลายแบรนด์ทั้งในยุโรปและอเมริกา ผ่านการลองผิดลองถูกเพื่อให้ได้ผลงานการพิมพ์เป็นที่ยอมรับ หลาย ๆ โครงการที่ล้มหายตายจากไปก็เยอะเนื่องจากคุณภาพงานพิมพ์ที่ยังไม่ดีพอ และปัญหาทางเทคนิคในเรื่องของหมึก-หัวพิมพ์-และซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะกับการพิมพ์เสื้อสีเข้ม) เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยเห็นหน้าตาของเจ้าเครื่องสกรีนเสื้อ DTG นี้มาบ้างแล้วจากคลิปใน Youtube

ทำไม Epson จึงกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ แน่นอนว่าในอุตสหกรรมสกรีนเสื้อทั่วโลกนั้นมีมูลค่ามหาศาล แต่หากเจาะเข้าไปเฉพาะตลาดของการสกรีนเสื้อแบบ DTG ต้องถือว่ายังเป็นเพียงเศษเสี้ยวของตลาดโดยรวมทั้งหมด เนื่องจากคุณลักษณะของเครื่อง DTG เป็นการผลิตในปริมาณน้อยและมีต้นทุนสูง ซึ่งหากเทียบกับงานซิลสกรีนในกำลังการผลิตที่จำนวนมากกว่า 100 ตัวขึ้นไป ต้นทุนต่อตัวของงาน DTG สูงกว่าการสกรีนแบบซิลค์สกรีน 10-15 เท่า(ไม่รวมต้นทุนเสื้อ) ดังนั้นชิ้นเค้กของเครื่องสกรีนเสื้อ DTG จึงถูกเฉือนเพียงชิ้นบาง ๆ แบ่งไปจากอุตสหกรรมสกรีนเสื้อโดยรวม โดยเจาะเข้าไปยังกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสั่งทำเสื้อจำนวนน้อย ๆ ( 1- 20 ตัว) ใช้เวลาผลิตไม่นาน ( ไม่เกิน 1-3 วัน) โดยชูจุดเด่นในเรื่องการสกรีนแบบไม่จำกัดสี (ภาพถ่ายก็สามารถสกรีนได้)

ในช่วงระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา กว่า 80 % ของเครื่อง DTG ในตลาดถูกจับจองด้วยเครื่องที่ดัดแปลงมาจากเครื่องพิมพ์ Epson ดังนั้นการเข้ามาอย่างถูกจังหวะและเวลาของ Epson จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจ เนื่องจากในตลาดมีกลุ่มลูกค้าผู้ซึ่งสนใจจะซื้อเครื่องอยู่แล้วจำนวนหนึ่้ง รวมเข้ากับกลุ่มลูกค้าที่ครอบครองเครื่องดัดแปลงมาจากเครื่องพิมพ์ Epson และกำลังมองหาเครื่องใหม่ ดังนั้นในตลาด ณ.เวลานี้จึงมีกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะจ่ายเงินซื้อเครื่องเป็นจำนวนมากพอที่จะสร้างผลกำไรให้กับ Epson

นั่นทำให้ Epson ผู้เป็นเจ้าของเครื่องที่มีเทคโนโลยีหัวพิมพ์ที่ผลิตมาเพื่อใช้งานกับงานพิมพ์บนเนื้อผ้าโดยเฉพาะ + น้ำหมึกเฉพาะที่ผลิตสำหรับงานพิมพ์ผ้า +ไม่เจอะปัญหาเกี่ยวกับหัวพิมพ์และการบำรุงรักษา + บริการหลังการขายที่เป็นมาตราฐานเดียวกันภายในแบรนด์ Epson แน่นอนว่า หากตลาดนี้ไปได้สวย Epson ก็จะกลายเป็นผู้นำตลาดแบ่งเค้กชิ้นใหญ่ไปในทันที

(** หมายเหตุ epson รุ่น sc f2000 ตั้งราคาขายอยู่ที่ประมาณ $20,000 จะเริ่มวางขายในอเมริกาช่วงต้น ๆ ปี 2014 )

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
บทความ โดย แพนด้าสกรีน อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ต้นฉบับ
  • Epson ตัดแบ่งชิ้นเค้ก เครื่องสกรีนเสื้อ DTG (ตอนที่ 1)
  • เสื้อยืด muppets by threadless
  • แนวทางในการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อแบบพิมพ์ตรงลงเนื้อผ้า ตอนที่1
  • แนวทางการเลือกเครื่องสกรีนเสื้อ ตอนที่2
  • แนะนำเครื่องสกรีนเสื้อ DTG รุ่นล่าสุดของ Brother
    เครื่องสกรีนเสื้อ DTG